คิโนซากิออนเซ็น เป็นเมืองขนาดเล็กเปรียบเสมือนหมู่บ้านที่ยังคงรักษาสภาพบ้านเรือนและเป็นอยู่ในแบบโบราณมาจนถึงทุกวันนี้หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดเฮียวโงะ (Hyogo) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโกเบ (Kobe) เมืองท่าที่ขึ้นชื่อในเรื่องเนื้อวัวคุณภาพดีในแถบคันไซ
การเดินทางมายังคิโนซากิ ออนเซ็น ไม่ใช่เรื่องยากโดยเฉพาะผู้ที่ถือบัตรรถไฟอย่าง JR Rail Pass เพราะเมืองแห่งนี้สามารถเข้าถึงได้โดยรถไฟสาย JR และมีสถานีที่ตั้งเป็นชื่อเดียวกับเมืองว่า สถานีคิโนซากิออนเซ็น(Kinosakionsen Station) ทุกๆวันจะมีรถด่วน (Express Train) วิ่งตรงจากเมืองเกียวโตและโอซาก้ามายังเมืองคิโนซากิออนเซ็นแห่งนี้โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะขึ้นรถไฟต้นทางจากสถานีใด
เราสามารถวางแผนการเดินทางโดยการตรวจสอบรอบรถไฟจากเว็บไซต์ Hyperdia (แนะนำวิธีใช้ Hyperdia) เรียกได้ว่า ใครที่จะเดินทางในญี่ปุ่นด้วยตนเองจำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าเว็บไซต์นี้อย่างแน่นอนเพราะเราสามารถตรวจสอบรอบรถไฟได้ล่วงหน้านานถึง 8-9 เดือน เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ชอบวางแผนยิ่งนัก ข้อมูลที่จำเป็นต้องกรอกก็คงจะไม่พ้นสถานีต้นทางสถานีปลายทางวันเดินทางและเวลาโดยประมาณ เว็บไซต์จะทำการกรองข้อมูลอย่างรวดเร็วแล้วดึงเอาเที่ยวรถไฟที่ใกล้เคียงกับเวลาที่เราเลือกไว้ ทีนี้ก็จะขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้วว่าจะเลือกขึ้นรถไฟเที่ยวไหน
เคล็ดลับของนักเดินทางที่ดีก็คือการวางแผนสำรองเอาไว้ เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระหว่างการเดินทาง เช่น เมื่อเรากำหนดรอบรถไฟไว้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นักเดินทางควรจะคิดล่วงหน้าก็คือ ถ้าเราพลาดรถไฟขบวนนี้ จะมีขบวนรถไฟถัดไปหรือไม่ และรถไฟขบวนถัดไปจะมาเวลาใด นี่เป็นหลักการพื้นฐานของนักเดินทางมืออาชีพ เพราะถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวไปก่อน สิ่งที่จะตามมาอย่างช่วยไม่ได้ก็คือเราจะเสียทั้งเวลาและเสียทั้งอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการเตรียมแผนสำรองไปล่วงหน้าย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแน่นอน
การใช้เวลาเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมง บนรถไฟ อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับใครหลายๆ คนแต่ถ้าลองเปิดตาและเปิดใจให้กว้าง เราจะพบว่าวิวทิวทัศน์ตามเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านมันช่างสวยงาม แปลกตาและน่าประทับใจยิ่งนักไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้าที่เขียวชอุ่มตามข้างทาง หรือทัศนียภาพของตึกรามบ้านช่องในแถบชนบทที่แสนสงบทุกสิ่ง ล้วนมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับผู้ชมว่าจะตีความสิ่งที่เห็นออกมาในรูปแบบใด
เสน่ห์อีกอย่างของการเดินทางด้วยรถไฟย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบของรถไฟที่เราใช้โดยสาร รถไฟญี่ปุ่นมีการออกแบบโครงสร้างและการตกแต่งภายในตัวรถไฟที่หลากหลาย ถ้าหากคุณไม่เชื่อ คุณลองขึ้นรถไฟข้ามจังหวัดซัก 3 – 4 ขบวน คุณจะรู้เลยว่ารูปแบบการจัดวางที่นั่ง และการตกแต่งภายในขบวนรถไฟแต่ละขบวนนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
และแน่นอน เส้นทางของสายรถไฟแต่ละขบวนย่อมจะมีสถานีระหว่างทางสำหรับจอดแวะพัก และรับส่งผู้โดยสาร สถานีแต่ละสถานีก็มีรูปแบบและขนาดที่แตกต่างกันอีกเช่นเดียวกัน สาเหตุหลักๆ ก็คงมาจากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้งานของแต่ละสถานีนั้นๆ ถ้าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนน้อยก็จะมีสถานีค่อยข้างเล็กที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 50 คน สถานีเล็กๆ เหล่านี้จะประกอบไปด้วยหลังคากันแดด กันฝน มีเก้าอี้สำหรับนั่งรอรถไฟเพียงแค่ 2 – 3 ตัว และมีป้ายบอกชื่อสถานี เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ถ้าเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก สถานีก็จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายร้านขายของเล็กๆ ที่มีเคาเตอร์จำหน่ายตั๋ว ห้องทำงานของนายสถานีและโซนที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้บริการอยู่ด้วย
แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจของสถานีรถไฟก็คือบางสถานีจะใส่ความพิเศษและความเป็นเอกลักษณ์ ของสถานีนั้นๆเข้าไปด้วย ซึ่งส่วนมากจะพบได้ตามเมืองท่องเที่ยว อย่างเช่น การสร้างบ่อน้ำพุร้อนสำหรับแช่เท้าไว้หน้าสถานี จุดประสงค์หลักก็เพื่อให้ผู้โดยสารได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าในขณะที่นั่งรอรถไฟไปด้วย แต่สิ่งที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังของบ่อน้ำพุร้อนนี้ ก็คงจะเป็นการโฆษณาเมืองไปในตัว ว่าถ้าคุณลงมาเที่ยวที่สถานีนี้หรือที่หมู่บ้านแห่งนี้คุณจะได้เพลิดเพลินไปกับการแช่บ่อน้ำพุร้อนด้วยหรือเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าที่นี่มีบ่อน้ำพุร้อน นับว่าเป็นวิธีโปรโมทการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกด้วย
3 ชั่วโมงผ่านไป ในที่สุดเราก็มาถึงสถานีคิโนซากิออนเซ็น เมื่อก้าวเท้าลงจากขบวนรถไฟและมองไปรอบๆ สถานี เราจะรู้ทันทีว่าที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ตามผนังกำแพงในสถานีเต็มไปด้วยภาพโปรโมทการท่องเที่ยวของเมืองนี้ ภาพสถานที่ต่างๆ ในเมืองล้วนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวตั้งคำถามขึ้นมาว่าภาพนี้ ถ่ายจากที่ไหน เรียกได้ว่านักท่องเที่ยวจะรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่จะได้พบเจอในเมืองนี้ตั้งแต่ก้าวเท้าที่ลงจากขบวนรถไฟเลยทีเดียว
จากชานชาลารถไฟ เดินเข้ามาในตัวสถานี เราจะพบว่าสถานีคิโนซากิออนเซ็นนั้น มีขนาดใหญ่พอสมควร มีเคาเตอร์ให้บริการนักท่องเที่ยวแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแนะนำจุดท่องเที่ยวต่างๆในเมือง ด้านในสถานีก็จะมีตู้ขายบัตรรถไฟอัตโนมัติ แท่นวางโบชัวร์และแผนที่สำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งโซนที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร ตู้ขายขนมและเครื่องดื่มแบบอัตโนมัติ และร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กอีกด้วย
เมื่อเดินผ่านประตูสถานีออกมาด้านนอก พร้อมกับกวาดสายตามองไปรอบๆ เมืองนี้จะให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนอดีตกลับไปในสู่ญี่ปุ่นยุคกึ่งโบราณกึ่งสมัยใหม่ ตึกรามบ้านช่องเป็นแบบ 2-3 ชั้น ตกแต่งด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ และใช้โทนสีน้ำตาลเป็นหลัก
ทางด้านขวามือของสถานีเป็นโรงอาบน้ำขนาดใหญ่ที่มีออนเซ็นอยู่ด้วย เป็นที่รู้กันว่า คิโนซากิ ออนเซ็น คือเมืองแห่งน้ำพุร้อน นักท่องเที่ยวท่านใดที่อยากสัมผัสประสบการณ์การแช่ออนเซ็นแบบญี่ปุ่นขนานแท้ เมืองแห่งนี้ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่เหมาะแก่การมาเยี่ยมเยียนเป็นอย่างยิ่ง
เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากแผนที่ ว่าเมืองคิโนซากิออนเซ็นแห่งนี้ เต็มไปด้วยบ่อน้ำพุร้อนถึง 7 แห่งเรียกได้ว่านักท่องเที่ยวสามารถเต็มอิ่มกับการแช่ออนเซ็นในเมืองนี้ได้อย่างจุใจไม่เพียงเท่านั้นเพราะแต่ละบ่อยังมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- บ่อที่ 1 คือ ซาโตะโนะยุ (Satono-yu) ออนเซ็นวาไรตี้ที่มีทั้งซาวน่า อ่างจากุซซี่ และบ่อกลางแจ้ง ตารูปแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ผสมผสานกับแบบโรมัน
- บ่อที่ 2 คือ จิโซยุ (Jizou-yu) ออนเซ็นที่ตั้งชื่อตามเทพผู้ดูคุ้มครองเด็กๆ เชื่อกันว่าการแช่ออนเซ็นที่บ่อนี้ จะทำให้ครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้าและปลอดภัย
- บ่อที่ 3 คือ ยานางิยุ (Yanagi-yu) ออนเซ็นบ่อเล็กที่สุดในบรรดา 7 บ่อ บรรยากาศอบอุ่นแบบดั้งเดิม ชื่อยานางินี้ มีที่มาจากต้นยานางิหรือต้นหลิวที่ปลูกอยู่ตามรายทางเลียบคลองในย่านนี้ เป็นออนเซ็นที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้เด็กทารกมีสุขภาพดี
- บ่อที่ 4 คือ อิจิโนะยุ (Ichino-yu) ออนเซ็นที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของย่านคิโนซากิ บ่อนี้ได้รับการออกแบบและตกแต่งใหม่ในปี ค.ศ.1999 บรรยากาศภายในบ่ออนเซ็นในร่มให้อารมณ์คล้ายๆบรรยากาศของถ้ำออนเซ็น กลางแจ้งเป็นออนเซ็นที่เชื่อกันว่าถ้านักเดินทางแวะอาบแล้วจะทำให้แคล้วคลาดจากภยันตราย
- บ่อที่ 5 คือ โกะโชโนะยุ (Goshono-yu) บ่อออนเซ็นที่ใหม่และใหญ่ที่สุดในบรรดา 7 บ่อ ไฮไลต์คือบรรยากาศแบบน้ำตกออนเซ็นที่บ่อกลางแจ้ง เป็นออนเซ็นที่จะนำมาซึ่งความโชคดีสำหรับคนที่กำลังตามหาคู่ครอง รวมไปถึงการคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากอัคคีภัย
- บ่อที่ 6 คือ มังดาระยุ (Mandara-yu) เสน่ห์แห่งความเงียบสงบในบรรยากาศดั้งเดิมคือจุดขายของออนเซ็นแห่งนี้เป็นออนเซ็นที่จะนำมาซึ่งความโชคดีสำหรับผู้ที่จะทำธุรกิจและการทำเกษตรกรรม
- บ่อที่ 7 คือ โคโนะยุ (Kouno-yu) บ่อออนเซ็นที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาอนเซ็นทั้ง 7 บ่อ เป็นออนเซ็นกลางแจ้งที่เคยเป็นโรงอาบน้ำแห่งแรกในเมืองคิโนซากิ กล่าวกันว่านี่คือบ่อออนเซ็นที่ถูกเล่าขานกันในตำนานที่มีพระ จากนารานำมาใช้รักษาอาการป่วยไข้ให้ชาวบ้าน ด้วยบรรยากาศอันแสนเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติและอากาศอันแสนสดชื่น โรโนะยุจึงเป็นอีกหนึ่งบ่ออนเซ็นที่ควรค่าแก่การมาแช่ให้ได้สักครั้ง หลายคนเชื่อกันว่าอนเซ็นแห่งนี้จะช่วยให้คู่สามีภรรยาครองรักกันอย่างมีความสุขและนี่ก็คือเรื่องราวของอนเซ็น 7 บ่อมงคลที่ขึ้นชื่อแห่งย่านคิโนซากิอนเซ็น
**ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) **
จุดหมายปลายทางแห่งแรกของเรา ก็คงจะหนีไม่พ้นโรงแรมหรือเรียวกังที่จองไว้ล่วงหน้าเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ นับเป็นความโชคดีที่ยังมีห้องว่างเหลืออยู่ เพราะโดยปกติแล้วโรงแรมที่นี่มักจะต้องจองล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ เนื่องจากไม่ว่าฤดูกาลไหน เมืองแห่งนี้ก็ต้องรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลั่งไหลมากจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่นด้วยกันเองหรือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ที่หลงใหลในธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
จากแผนที่โรงแรมที่เตรียมมา เราสามารถเดินไปยังที่พักได้อย่างสบายๆ โดยใช้เวลาเดินเพียง 5 นาทีเท่านั้น ระหว่างทางเดินไปโรงแรมเราได้มีโอกาสสำรวจสภาพบ้านเรือนและร้านค้าอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากเป็นเวลาค่อนข้างเย็นแล้ว ร้านค้าบางส่วนเริ่มทะยอยปิดทำการกันบ้างแล้ว แต่ความน่ารักและเสน่ห์ของเมืองนี้อีกอย่างคือ นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนต่าง สวมชุดยูกาตะและใส่รองเท้าเกี๊ยะ ออกมาเดินเล่นในเมือง และด้วยสภาพบ้านเรือนที่เหมือนย้อนกลับไปในยุคก่อนจึงทำให้การใส่ชุดยูกาตะไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสักนิด แต่เราในตอนนี้ที่ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์สะพายเป้ลากกระเป๋าเดินทางพะรุงพะรังยังดูประหลาดซะมากกว่า
โรงแรมที่เราจะเข้าพักในคืนนี้มีชื่อว่ามิคุนิยะ (Mikuniya) แต่โดยความเป็นจริงแล้วเราควรจะเรียกว่า เรียวกัง คงจะเหมาะสมกว่า เพราะสภาพภายนอกดูยังไงก็ไม่เหมาะกับคำว่าโรงแรม มองจากด้านหน้าแล้ว เรียวกังแห่งนี้จะเป็นเหมือนอาคารขนาดเล็ก 3 ชั้น ด้านขวามือมีรถลากแบบโบราณและเก้าอี้ไม้วางตั้งอยู่ ส่วนทางด้านซ้ายมือก็เป็นป้ายชื่อขนาดเล็กบ่งบอกถึงชื่อของเรียวกังแห่งนี้ ประตูทางเข้าจะเป็นกระจกใสมีปุ่มกดเปิด – ปิดอัตโนมัติอยู่ เดินเข้ามาด้านในก็จะพบกับแผ่นป้ายสีดำที่มีชื่อของผู้เข้าพักทุกท่านปรากฎอยู่ แผ่นป้ายนี้แสดงถึงความใส่ใจที่มีต่อลูกค้าและยังทำให้เรารู้ว่าจำนวนห้องพักในเรียวกังนั้นมีน้อยมากจริงๆ
ส่วนทางด้านขวามือของประตูทางเข้า จะเป็นที่วางรองเท้าและโซนโต๊ะเก้าอี้ขนาดเล็กสำหรับนั่งถอด หรือ ใส่รองเท้า ความประทับใจแรกที่มีต่อเรียวกังแห่งนี้ คือความใส่ใจของพนักงานทุกคน เพียงแค่เราก้าวเท้าเข้าไปพร้อมกระเป๋าเดินทาง พนักงานต่างกระวีกระวาดเข้ามาช่วยยกกระเป๋าและสัมภาระทั้งหลาย เท่านั้นไม่พอ ยังใช้ผ้าทำความสะอาดล้อกระเป๋าเดินทางให้ครบทุกใบ
หลังจากทำการเช็คอินเรียบร้อยแล้วสิ่งที่จะได้รับจากเรียวกังแห่งนี้จะประกอบไปด้วย
- โบชัวร์เมืองคิโนซากิฉบับภาษาไทย
- บัตรผ่านเข้าโรงอาบน้ำ 7 แห่งแบบไม่มีค่าใช้จ่าย
- คูปองเงินสดสำหรับซื้อของที่ระลึกในเมือง (ท่านละ 3,000 เยน)
แต่คูปองเงินสดนี้จะมีแจกเฉพาะช่วงเท่านั้น
***สำหรับลูกค้าที่เป็นสุภาพสตรี คุณจะได้รับสิทธิพิเศษในการเลือกชุดยูกาตะที่มีลวดลายและสีสันสวยงามที่แขวนเรียงรายอยู่ด้านใน นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกเวลาสำหรับการเข้าใช้ออนเซ็นแบบส่วนตัวได้อีกด้วย โดยจะจำกัดเวลาให้ห้องพักละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ห้องพักของเราอยู่บนชั้น 2 กระเป๋าและสัมภาระทั้งหมดถูกยกขึ้นไปบนห้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ยกไปตอนไหนอันนี้ไม่แน่ใจ) ด้านหน้าห้องพักจะมีรายชื่อผู้เข้าพักเขียนอยู่บนกระดาษสีขาว เรียกได้ว่าไม่ต้องกลัวเข้าห้องผิดกันเลยทีเดียว ภายในห้องจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นที่วางกระเป๋า อ่างล้างหน้าและห้องสุขา ส่วนที่ 2 จะเป็นห้องใหญ่ใช้สำหรับรับประทานอาหาร ดูทีวีและเป็นห้องสำหรับนอนอีกด้วย ส่วนที่ 3 จะเป็นส่วนของที่นั่งริมระเบียงสำหรับชมวิวด้านนอก โดยแต่ละส่วนจะมีประตูไม้กั้นเพื่อแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
เมื่อเราเก็บสัมภาระทุกอย่างลงตัวแล้วพนักงานจะเข้ามาถามว่าคุณต้องการแช่ออนเซ็นหรือรับประทานอาหารเย็นก่อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลูกค้ามักจะเลือกแช่ออนเซ็นก่อน ทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายร่างกายที่เหนื่อยล้ามาจากการเดินทางไกล และเพื่อให้ทางพนักงานได้มีเวลาเตรียมอาหารมื้อเย็นที่จะมาเสริฟเป็นเซ็ตแบบอลังการงานสร้างกันเลยทีเดียว เรียวกังที่นี่ไม่มีห้องอาบน้ำส่วนตัวให้บริการ จุดประสงค์ก็เพื่อให้แขกทุกท่านได้สัมผัสประสบการณ์การใช้โรงอาบน้ำสาธารณะตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นขนานแท้ จากห้องพักทางเดินไปบ่อออนเซ็นค่อนข้างลึกลับอยู่พอสมควร เราต้องเดินลงบันไดไปด้านล่างซึ่งบันไดที่ว่าจะอยู่คนละฝั่งกับทางเข้าโรงแรม เมื่อลงไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายแล้วจะเจอทางเดินยาวพอประมาณ สามารถมองเห็นได้ว่าปลายทางอีกฝั่งหนึ่งก็มีบันไดทางขึ้นแบบเดียวกัน และเมื่อเดินมาถึงก็จะพบห้องขนาดเล็กสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีชุดรับแขกโต๊ะและเก้าอี้นวมวางอยู่ด้านหลังจะเป็นประตูไม้กั้นด้วยผ้าม่านสั้น ฝั่งซ้ายมือของประตูจะมีแท่นแผ่นป้ายระบุช่วงเวลาการใช้ออนเซ็นซึ่งจะจำกัดห้องพักละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
วิธีการจองรอบแช่ออนเซ็นนั้นไม่ยากเลย ใครที่มาเช็คอินก่อน ย่อมมีสิทธิ์เลือกก่อนเสมอ จุดน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือแผ่นไม้ที่แขวนไว้กับผนังใกล้กับทางเข้าบ่อออนเซ็น มีตัวอักษรญี่ปุ่นเขียนไว้อยู่ และกำกับด้วยภาษาอังกฤษไว้ด้านล่างว่า Vacancy ซึ่งหมายถึงบ่อออนเซ็นนี้ไม่มีผู้ใช้บริการอยู่ ในทางกลับกัน เมื่อถึงรอบเวลาที่เราจองไว้ ก่อนที่จะเข้าไปด้านใน อย่าลืมกลับแผ่นป้ายก่อนเข้าใช้บริการด้วย เพราะเมื่อพลิกแผ่นป้ายกลับอีกด้านหนึ่งแล้ว ก็จะมีตัวอักษรญี่ปุ่นพร้อมภาษาอังกฤษกำกับว่า Occupied ซึ่งจะแสดงให้แขกท่านอื่นรู้ว่ามีคนกำลังใช้บ่อออนเซ็นนี้อยู่
เมื่อผ่านประตูไม้เข้ามาในบริเวณบ่อออนเซ็นแล้ว เราจะพบกับห้องขนาดเล็ก ใช้สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้าและแต่งตัว ภายในมีตู้ไม้แบ่งเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีตระกร้าสำหรับใส่เสื้อผ้าวางอยู่ ด้านบนตู้มีพัดลมสำหรับระบายอากาศ ด้านขวามือของตู้จะเป็นชั้นวางของสองชั้น ชั้นบนสำหรับผ้าขนหนูสะอาด และชั้นล่างสำหรับผ้าขนหนูที่ใช้แล้ว ตรงข้ามกับตู้จะเป็นมุมของอ่างล้างหน้า กระจก และเก้าอี้สำหรับแต่งหน้าทำผม โดยจะมีผลิตภัณฑ์จำพวกสบู่ล้างมือ ครีมล้างหน้า โลชั่นทาผิว และไดร์เป่าผมวางให้บริการอยู่
หลังจากจัดการกับเสื้อผ้าของตัวเองเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาแช่ออนเซ็น บ่อออนเซ็นจะอยู่ติดกับห้องแต่งตัวโดยมีประตูกระจกใสคั่นกลางอยู่ ด้านในจะเป็นห้องขนาดเล็กเข้าใช้ได้เพียง 3-4 คนเป็นอย่างมาก มุมขวาของห้องจะเป็นโซนสำหรับอาบน้ำชำระล้างร่ายกาย มีสบู่อาบน้ำ ยาสระผมและครีมนวดผมวางอยู่พร้อม ส่วนมุมซ้ายก็จะเป็นบ่อออนเซ็นร้อนระอุ รอคอยให้แขกผู้เข้าพักหย่อนกายลงมาแช่ และสัมผัสถึงความร้อนจากธรรมชาติที่มาพร้อมกับแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์ ช่วยบำรุงการไหลเวียนของโลหิต ทั้งยังสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามข้อกระดูก บรรเทาอาการปวดศรีษะ และยังช่วยให้ผิวพรรณของเราเปล่งปลั่งมีน้ำมีน้ำอีกด้วย
หลังจากอาบน้ำแร่แช่ออนเซ็นกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลารับประทานอาหารเย็น เมื่อเราเดินเข้าไปในห้องก็จะเห็นว่าอาหารมากมายได้วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมนูขึ้นชื่อของเมืองคิโนซากิออนเซ็น ก็คือปูทะเลสดๆและเนื้อวัวมัตสึบะคุณภาพเยี่ยม เมนูปูจะถูกเสิร์ฟในรูปแบบของก้ามปูขนาดพอดีคำ แกะกินง่ายสบายมือนอกจากนี้ยังมีอาหารทะเลสดที่มาในรูปแบบของซาซิมิ รับประทานควบคู่กับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ และน้ำซุปร้อนๆ ยังมีไข่ตุ๋นอุ่นร้อนรสชาตินุ่มลิ้น และที่พลาดไม่ได้อีกเมนูก็คือเนื้อมัตสึบะแร่เป็นแผ่นบางเสิร์ฟให้ทานในรูปแบบของชาบูชาบู ทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ ความพิเศษก็คือทุกคนจะมีหม้อขนาดเล็กใส่น้ำซุปร้อนไว้สำหรับลวกเนื้อ เราสามารถเลือกระดับความสุกของเนื้อได้ด้วยตนเอง จะเป็นสุกมาก สุกน้อย หรือ เลือกกินแบบดิบๆ ก็ได้ตามความต้องการ และปิดท้ายมื้อนี้อย่างสวยงามด้วยสาลี่แสนอร่อยที่ทั้งกรอบและหวานกำลังดี เรียกได้ว่าเป็นมื้ออาหารเย็นที่น่าประทับใจยิ่งนัก
ไฮไลท์ของเมืองคิโนซากิ ออนเซ็นยังไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากอิ่มท้องด้วยมื้อค่ำสุดอลังการแล้ว กิจกรรมต่อไปที่ห้ามพลาดก็คือการสวมชุดยูกาตะแบบเต็มยศ ใส่รองเท้าเกี๊ยะ สะพายถุงผ้าแล้วออกไปเดินเล่นรับลมชมวิวยามค่ำคืนในหมู่บ้านแห่งนี้ สำหรับใครที่ไม่เคยสวมชุดยูกาตะและไม่สามารถใส่ได้ด้วยตนเองก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป หลังทานอาหารเสร็จเรียบร้อย พนักงานก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ สอนวิธีใส่ชุดที่ถูกต้องให้กับแขกผู้เข้าพักทุกท่าน และเมื่อเราออกจากที่พักไป พนักงานเหล่านี้ก็จะเข้ามาทำความสะอาดห้องพัก เก็บกวาดทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นจานชามช้อนตะเกียบหม้อน้ำซุป ไล่ไปถึงโต๊ะทานข้าวและเก้าอี้ ทุกอย่างจะหายไปในพริบตา และห้องโล่งกว้างก็จะถูกแทนที่ด้วยฟุตง (Futon) หรือฟูกนอนหนานุ่มตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียนในห้อง จำนวนฟูกจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาเข้าพักในแต่ละห้อง ซึ่งโดยปกติแล้วทางโรงแรมจะกำหนดไว้ให้ห้องละไม่เกิน 3-4 ท่านต่อ 1 ห้อง
ย้อนกลับไปถึงที่กิจกรรมรับลมชมวิวกันดีกว่า (ก่อนออกจากห้องพักอย่าลืมหยิบบัตรผ่านเข้าโรงอาบน้ำใส่กระเป๋าด้วยนะ) ตรงจุดวางรองเท้าหน้าโรงแรม ถ้าลองสังเกตดีๆ คุณจะพบว่ารองเท้าของคุณถูกนำไปเก็บไว้ที่อื่นเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ต้องห่วงไป เพราะเมื่อถึงเวลาที่คุณเช็คเอ้าท์ รองเท้าของคุณจะถูกนำมาวางที่เดิมราวกับว่ามันไม่เคยหายไป ที่เหลือไว้ด้านหน้าตอนนี้ก็จะมีแค่รองเท้าเกี๊ยะหลากหลายสไตล์วางเรียงรายให้คุณเลือกตามใจชอบ เรื่องขนาดเท้าก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปเพราะที่นี่มีให้ลองทุกไซส์ตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ รองรับได้ทุกเชื้อชาติ
ชุดพร้อม รองเท้าพร้อม ได้เวลาออกเดินทาง เพียงแค่ก้าวเท้าออกจากประตูโรงแรมเราก็รู้สึกถึงลมเย็นที่เข้ามาปะทะกับผิวหน้า ให้ความรู้สึกสดชื่นอย่างประหลาด และถึงแม้รองเท้าเกี๊ยะจะทำให้เดินลำบากไปบ้างแต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ร้านรวงทยอยปิดไปตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว จะเหลือแค่เพียงร้านขายของที่ระลึก 2-3 ร้านที่ยังเปิดไฟสว่างอยู่ เดินจากโรงแรมไปได้ไม่กี่ก้าว ก็ต้องหยุดช้อปปิ้งซะแล้ว ของที่ระลึกที่เมืองนี้ก็จะมีขนมหลากหลายประเภทตามสไตล์ของฝากญี่ปุ่น แต่ที่น่าสนใจก็คงจะเป็นรองเท้าเกี๊ยะที่มีทั้งแบบใส่ได้จริงและแบบโมเดลสำหรับนักสะสม รวมทั้งผ้าขนหนูผืนเล็กที่มีลักษณะเนื้อผ้าและลายบนผ้าแตกต่างกันไป ใช้สำหรับการแช่ออนเซ็นโดยเฉพาะ
เดินลึกเข้าไปก็จะพบกับคลองขนาดเล็กที่มีสะพานสร้างเป็นทางเชื่อมต่อ สำหรับสัญจรไปมาสองฟากฝั่งถนน เสน่ห์ของคลองแห่งนี้ก็คงจะเป็นต้นหลิวที่เรียงรายอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง โดยมีฉากด้านหลังเป็นภูเขาเขียวขจีตัดกับสีฟ้าสดใสของท้องฟ้ายามเช้าตรู่ ซึ่งจะให้อารมณ์แตกต่างกับเวลากลางคืนโดยสิ้นเชิง ยามที่ฟ้องฟ้ามืดมิด ภาพที่เราเห็นจะกลับกลายเป็นแสงสีส้มนวลจากโคมไฟที่เปิดไล่เป็นทางยาวเลียบไปกับลำคลอง มองแล้วดูลึกลับน่าค้นหา จุดถ่ายภาพของเมืองนี้ที่พลาดไม่ได้ก็คือพื้นที่ตรงกลางสะพาน เพราะเมื่อแพลนกล้องไปแล้วเราจะได้ฉากหลังเป็นคลองทอดยาวประดับด้วยต้นหลิวที่ขึ้นเรียงกันไปไกลจนสุดลูกหูลูกตา
เก็บภาพเป็นที่ระลึกกันพอประมาณ ได้เวลาสัมผัสประสบการณ์เข้าโรงอาบน้ำสาธารณะตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นกันแล้ว ภาษิตไทยสอนไว้ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เพราะฉะนั้นมาเที่ยวเมืองออนเซ็นทั้งที ก็ต้องไม่พลาดที่จะแช่ออนเซ็นร่วมกับชาวบ้านชาวเมืองที่นี่ จริงๆ แล้วที่เมืองนี้มีโรงอาบน้ำสาธารณะที่ให้บริการมากถึง 7 แห่ง แต่ด้วยเวลาที่จำกัดเราจึงต้องเลือกแค่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นซึ่งโรงอาบน้ำที่เราเลือกมีชื่อว่าอิจิโนะยุ (Ichino-yo) เมื่อเข้าไปด้านใน สิ่งที่ที่ต้องทำคือนำบัตรผ่านที่ได้จากโรงแรมสแกนกับเครื่องตรวจบัตรที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเคาเตอร์ ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานมั่นใจได้ว่าเราเป็นแขกของโรงแรมที่มาพักในเมืองนี้จริงๆ
ด้านซ้ายมือของประตูทางเข้าจะมีตู้เก็บรองเท้าเรียงรายอยู่ เดินเข้าไปด้านในโรงอาบน้ำจะแบ่งแยกเป็น 2 ฝั่งชาย – หญิง อย่างชัดเจนผ้าม่านที่กั้นตรงประตูทางเข้าจะแบ่งเป็นสองสี สีแดงคือผู้หญิง และ สีม่วงคือผู้ชาย แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เมื่อเข้าไปด้านในแล้ว ก็ไม่ต้องตกใจถ้าเจอผู้คนเดินไปมาในสภาพเปลือยเปล่า ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ชาวญี่ปุ่นไม่ถือว่าเป็นเรื่องน่าอาย เพราะรูปร่างภายนอกของคนเราแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างกัน ร่างกายเราเป็นแบบไหน คนอื่นก็เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาเสียเวลาอายเรื่องสรีระแต่อย่างใด เพียงแค่ทำใจให้สบาย ปล่อยตัวตามธรรมชาติ ถอดชุดยูกาตะ พับเก็บใส่ไว้ในล็อคเกอร์ จากนั้นเดินเข้าไปอาบน้ำชิวๆ ต่อด้วยแช่ออนเซ็นผ่อนคลายความเหนื่อยล้าของร่างกาย เพียงเท่านี้คุณก็จะได้รับประสบการณ์อันแปลกใหม่เก็บเข้าสู่กล่องความทรงจำที่มีคุณเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
โรงอาบน้ำสาธารณะส่วนใหญ่ จะมีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติให้บริการอยู่ด้วย ซึ่งโดยทั่วไป หลังจากการแช่ออนเซ็น อุณหภูมิภายในร่างกายเราก็จะสูงขึ้นกว่าเดิม ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมดื่มนมสดเย็นๆ หลังการแช่น้ำพุร้อน เพื่อให้อุณหภูมิภายในลดลงเป็นปกติ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็ได้เวลากลับที่พัก และแน่นอนว่าเมื่อกลับมาถึงห้องพักที่เรียวกัง ห้องนอนที่เคยมีโต๊ะและเก้าอี้สำหรับรับประทานอาหาร บัดนี้ได้ถูกแทนที่ด้วยฟูกนอนหนานุ่มที่ดึงดูดให้เราล้มตัวลงนอนโดยอัตโนมัติ เพื่อตอบแทนร่างกายที่เหนื่อยล้ามาตลอดทั้งวัน ถึงเวลาปิดสวิตซ์สมอง ดับไฟห้องนอน ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ ทบทวนถึงสิ่งที่เราได้เจอในวันนี้ก่อนเข้าสู่ห้วงนิทรา…….
Story By Bamboo
**********************************
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เพื่อนๆทุกคนอยากไปสัมผัสเมืองน้ำพุร้อนแห่งนี้
กันแล้วใช่มั๊ยค๊าาา…
ในเมือง คิโนซากิออนเซ็น แห่งนี้ยังมีที่พักสวยๆให้เลือกพักอีกมากมาย