“ไม่มีที่ใดในผืนแผ่นดินไทย
ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปไม่ถึง”
ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วทั้งประเทศ และทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความยากลำบากของราษฎรในทุกที่ทุกภูมิภาค จึงทรงทุ่มเทพระวรกาย คิดค้นโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง กว่า 4,000 โครงการ ขึ้นมาเพื่อพัฒนาชุมชนนั้นๆ เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนดั่งเนื้อเพลงที่ว่า … “หยดน้ำหยาดเหงื่อพระองค์หยดลงที่ไหน ทุกข์ร้อนจะพลันสลาย ทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน” สิ่งที่พ่อสร้างไว้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ต่างๆในทุกวันนี้
เราจะพาทุกๆท่านไปท่องเที่ยวตามรอยเท้าพ่อ เท้าที่ย่างก้าวไปเพื่อพลิกผืนดินที่แห้งแล้งให้งดงาม
เส้นทางแรก
• ○ วังสวนจิตรลดา ○ •
วังสวนจิตรลดา (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) วังที่ไม่เหมือนวังใดในโลก เพราะภายในวังที่ควรจะมีเขาวงกต ปราสาททอง เหมือนในนิทาน กลับมีโรงสีข้าว โรงงานผลิตนม บ่อเลี้ยงปลานิล และโครงการอื่นๆ ที่เราไม่คิดว่าจะพบในรั้วในวัง
แล้ว…ทำไมพ่อต้องสร้างฟาร์ม สร้างสวนในวัง ?
เพราะ พ่อต้องการสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ศึกษา ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆในด้านการเกษตรให้กับเกษตรกร และที่นี่ก็ใกล้ชิดพ่อ พ่อสามารถติดตามผลของงานวิจัยได้ตลอดเวลา เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือพวกเรา และพ่อก็ใจดีเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย (ต้องทำจดหมายขอเข้าชมล่วงหน้าประมาณ 1-3 เดือน)
พ่อได้แบ่งการดำเนินงานของที่นี่เป็น 2 รูปแบบ
- แบบไม่ใช่ธุรกิจ : ก็จะเป็นพวกงานทดลอง ค้นคว้าต่างๆ ที่หน่วยงานทางภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน
- แบบกึ่งธุรกิจ : จะเป็นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และนำไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้บริโภคของที่มีคุณภาพโดยไม่หวังผลกำไร
งานทดลองอย่างแรกที่พ่อทดลองในวัง คือ แปลงนาข้าวทดลอง
เพราะอาชีพการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทย และสิ่งที่พ่อพบปัญหามากที่สุด จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำนา พ่อจึงได้ทำแปลงนาข้าวทดลอง ทั้งในรูปแบบข้าวไร่ และนาสวน กว่า 40 สายพันธุ์ และวิธีปลูกอีกหลายรูปแบบแล้วแต่ผลลัพธ์ที่ชาวนาอยากจะได้ ข้าวที่ปลูกภายในวังจะนำไปใช้ในพีธีแรกนาขวัญ และเป็นพันธุ์ข้าวแจกจ่ายให้กับเกษตรกร
ภายในวังก็จะมีนิทรรศการห้องข้าวที่รวบรวมข้อมูลพันธุ์ข้าวทดลองให้ทุกๆท่านได้ศึกษา ชมการทำนาที่พ่อลงมือทำเองทุกขั้นตอน ชมรถแทร็กเตอร์คันแรกในประเทศไทย และชมเคียวเกี่ยวข้าวที่พ่อใช้เกี่ยวในพีธีแรกนาขวัญอีกด้วย
โรงสีข้าวตัวอย่าง
โรงสีข้าวที่นี้ไม่ได้มีไว้สีข้าวในนาทดลอง แต่จะเป็นการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่เป็นสหกรณ์ เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวไว้ไม่ให้ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ
โรงบดแกลบ
เมื่อเราสีข้าวแล้ว ก็จะเหลือเเกลบ วัสดุเหลือใช้จากผลผลิต พ่อจะไม่ทิ้งแต่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการสร้างมูลค่า ทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งไร้กลิ่นไร้ควัน และเมื่อกลั่นก็จะได้เป็นน้ำส้มควันแกลบ ที่สามารถนำไปเป็นปุ๋ยให้กับพืชผลต่อไปได้ จะเห็นได้ว่าทุกส่วนของผลผลิต พ่อสามารถแปรรูปให้เกิดคุณค่าได้หมดเลยเป็นที่สุดของพระมหาอัจฉริยภาพโดยแท้
โรงโคนมสวนจิตรลดา
เมื่อปี พ.ศ. 2503 พ่อได้เสด็จเยือนยุโรปและทรงศึกษารูปแบบการเลี้ยงวัวนม จึงเกิด โรงเลี้ยงโคนม ขึ้นในปี พ.ศ. 2505 และเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงวัวนมในประเทศไทย วัวที่เลี้ยงทั้งหมดเป็นวัวเพศเมียเพื่อเอาไว้รีดน้ำนมโดยเฉพาะ น้ำนมดิบที่ได้ก็จะนำไปสู่กรรมวิธีผลิตเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ นมยูเอชที นมผง เนย โยเกิร์ต และที่สำคัญ นมผงอัดเม็ด ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง ซึ่งเราก็จะได้เห็นถึงขั้นตอนการทำแบบใกล้ๆ เลยทีเดียว
นอกจากนี้ที่นี่ยังนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป ไม่ว่าจะเป็น โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลไม้อบแห้ง และงานทดลองต่างๆอีกมากมาย
งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล โครงการแก๊สโซฮอล์
รู้หรือไม่ว่า พ่อของเราเป็นผู้ริเริ่มการนำวัสดุจากการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เมื่อพ่อเห็นถึงปัญหาภาวะอ้อยราคาตกต่ำ จึงได้มีรับสั่งให้รับซื้ออ้อยมาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานทดแทน เพราะประเทศเราไม่ได้เป็นเมืองน้ำมัน น้ำมันจึงเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป พ่อเกรงว่าในอนาคตประเทศไทยอาจจะขาดแคลนน้ำมัน เลยได้ริเริ่มนำอ้อยมาศึกษาการกลั่นออกมาเป็นแอลกอฮอล์ และยังสามารถนำส่วนอื่นๆมาผลิตเป็นสบู่ แชมพู น้ำหอมได้อีกด้วย
บ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล
พ่อเพาะเลี้ยงปลาเหล่านี้ด้วยพระองค์เองด้วยจำนวนเริ่มต้น 50 ตัว ตั้งพระทัยให้ประชาชนสามารถเลี้ยงปลานิลไว้เป็นอาชีพ ซึ่งปลานิลนี้เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกที่ขายได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่รู้ไหมว่า…พ่อเราไม่ทานปลานิลนะคะ
ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากโครงการส่วนพระองค์ฯ เท่านั้น ยังมีจุดน่าสนใจอีกมากมายภายในวังสวนจิตรลดา อย่างระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ โรงกระดาษสา พิพิธภัณฑ์โรงช้างต้น โรงหล่อเทียนหลวงและอีกมากมาย เห็นไหมคะว่า วังของพ่อ ไม่เหมือนวังไหนบนโลก ทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อทำ ก็เพื่อพวกเราคนไทยทุกคน
ที่ตั้ง : อยู่ในพระราชวังดุสิต แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กทม.
โทร : 0-2282-8200
.
.
.
เส้นทางที่ 2
•○ แหลมผักเบี้ย ○•
เปลี่ยนบรรยากาศจากฟาร์มมาเป็นน้ำป่าชายเลนกัน ณ โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย เดินทางแค่ 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพก็ได้พบกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง จนได้ชื่อว่าเป็น เส้นทางหวาน เค็ม โคลน และยังเป็น scenic route เส้นทางปั่นจักรยานอีกด้วย
เส้นทาง หวาน คงได้ยินกันมาบ่อยว่า ถ้าปากหวาน ก็หวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร น้ำตาลสดหอมอร่อยก็ต้องเพชรบุรี เพชรบุรีมีต้นตาลมากที่สุดในประเทศทไทยและมีศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด หรือ สวนตาลลุงถนอม อ.บ้านลาด
ลุงถนอมจะคอยให้ความรู้เรื่องความเป็นมาของต้นตาล กว่าจะได้มาทำน้ำตาลสด ให้หอมอร่อยและมีเอกลักษณ์ ซึ่งใครที่ไปแล้วอยากจะลองปีน เค้าก็ให้ปีน เสียว และเหนื่อยมากค่ะ คิดดูสิคะ กว่าเค้าจะได้น้ำตาลสดแท้ๆ มาให้เรากินนั้นต้องทำแบบนี้ทั้งดือน ทั้งปี
เสร็จแล้วก็ได้ชิมน้ำตาลสดหอมเย็นชื่นใจ พร้อมขนมตาลที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ฟินที่สุด
เส้นทาง เค็ม จากดงต้นตาลจะมาแหลมผักเบี้ยจะต้องผ่านนาเกลือ อำเภอบ้านแหลม ถ้าไปหน้าร้อนก็จะเจอกองเกลือสีขาวเรียงรายเต็มสองข้างทาง แวะถ่ายรูป ได้ภาพสวยๆกลับบ้านกันด้วย ซึ่งระหว่างทางก็มีแหล่งท่องเที่ยวภูมิปัญญาไทยอย่าง กังหันทอง บ้านเรือนไทยท่ามกลางนาเกลือ
จุดเด่นของที่นี่คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความรู้เรื่องเกลือ มีบริการนวดแผนไทยซึ่งที่นี่นวดดีมากค่ะ หนัก ตรงจุด ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทางได้ดีสุดๆ บรรยากาศรอบๆเป็นนาเกลือ ลมพัดเย็นสบาย นวดทีไรหลับทุกที แหะๆ
ก่อนกลับก็ขัดผิวด้วยดอกเกลือสปา ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เค้าใช้ก็ทำจากเกลือและดอกเกลือภูมิปัญญาชาวบ้านพัฒนาจนเป็นสินค้าโอทอปประจำตำบล
ราคาไม่แพง คุ้มค่าสุดๆ ลองแล้วจะติดใจ
อ่อที่กังหันทองเค้ามีบริการแช่เท้าด้วยเกลือแช่เท้ากับน้ำอุ่นๆฟรีด้วยนะ เป็นบริการจากทางร้าน ให้ลูกค้าที่มาเหนื่อยได้ประทับใจ มาถึงปึ้ปขึ้นไปนั่งบนบ้าน พนักงานก็จะหิ้วกะละมังพร้อมน้ำอุ่นๆ มาโรยด้วยดอกเกลือ แช่สัก 10 นาที แล้วค่อยนวดผ่อนคลาย
เส้นทาง โคลน นี่เลย ไฮไลท์ของเรา เดินตามรอยพ่อเข้ามา ณ โครงการแหลมผักเบี้ย
ป่าชายเลน ที่พ่อได้มีพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการขึ้น เพื่อบำบัดน้ำเสีย และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรี เรารู้สึกดีใจที่บ้านเราได้เกิดมาในแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมีของท่านที่ทรงห่วงใยประชาชนทุกที่จริงๆ มาดูกันว่าที่นี่มีอะไรให้เราได้ศึกษาบ้าง หน้าทางเข้า เค้าจะมีแผนที่เเจกให้เราเพื่อไม่ให้หลงทาง และเราก็สามารถขับรถชมวิวได้ตามต้องการ
แล้วทำไมที่นี่ถึงชื่อแหลมผักเบี้ย ? ก็เพราะว่าสองข้างทางของบ่อบำบัดน้ำจะมีผักเบี้ยทะเลขึ้นมาเยอะมาก จึงได้ชื่อว่า แหลมผักเบี้ย ภายในแหลมผักเบี้ย มีบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ถึง 4 บ่อ
แต่ไฮไลท์สำคัญของที่นี่คือเส้นทางศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลน ที่มีระยะทางประมาน 850 เมตร ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นโกงกาง และต้นแสม แถมด้วยผักเบี้ยทะเลของจริงที่ขึ้นอยู่เต็มบริเวณโดยรอบป่าชายเลนให้เราเดินชมกันเพลิน ๆ (ปล. ใครที่จะเข้าเส้นทางนี้ แนะนำให้เข้าห้องน้ำก่อนนะคะ เพราะทางมันยาวแล้วก็ไม่มีห้องน้ำนะคะ)
เมื่อเดินมาจนสุดทางจะพบสะพานไม้ที่ทอดตัวยาวออกไปไกลท่ามกลางแม่น้ำ สูดกลิ่นโคลน กลิ่นอายทะเลให้เต็มปอด นั่งพักกาย พักใจให้หายเหนื่อย
แม้ว่าที่นี่จะไม่มีอะไรให้ตื่นตา ตื่นใจนัก แต่โครงการนี้ก็มีประโยช์ต่อชุมชนจังหวัดเพชรบุรีอย่างมาก เป็นการบำบัดแม่น้ำเพชรบุรีให้มีคุณภาพน้ำดีขึ้น ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วยังสามารถนำมาใช้ปลูกพืชเกษตรได้ มาชมผลงานความสำเร็จอีกหนึ่งโครงการของพ่อ อย่างน้อยที่นี่ ก็ทำให้ใจเราสงบจากความวุ่นวายในกรุงเทพได้ชั่วครู่หนึ่ง
ที่ตั้ง : บ้านพะเนิน ตำบลบ้านแหลม อำเภอ บ้านแหลม เพชรบุรี 76110
โทร : 032-441-265
.
.
.
เส้นทางที่ 3
•○ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค นมกล่องแรกของเมืองไทย ○•
ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค หรือองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ฟาร์มตัวอย่างและศูนย์กลางการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมแห่งแรกในประเทศ อาชีพพระราชทานจากพ่อ
นมไทยเดน-มาร์คเริ่มต้นจากการที่พ่อเสด็จเยือนประเทศเดนมาร์คทรงสนพระราชหฤทัยในฟาร์มโคนมอย่างมาก คนไทยจะได้ดื่มนมที่ดีมีปรโยชน์ เกษตกรมีอาชีพมั่นคง จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์คอย่างเต็มที่
ที่นี่เลี้ยงโคนมแบบธรรมชาติ ให้เราได้ลองป้อนนม และรีดนมวัวจากเต้า น้ำนมดิบที่ได้จากฟาร์มนี้และฟาร์มโคนมต่างๆ จะถูกส่งไปยังโรงงานทั้ง 5 แห่งของ อ.ส.ค. เพื่อแปรรูปเป็นนมกล่อง นมถุง โยเกิร์ต และไอศกรีม ที่มีคุณประโยชน์จากนมให้เราได้กิน
พื้นที่บางส่วนถูกจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำฟาร์ม เรียนรู้การทำปุ๋ยนมสด ชมพิพิธภัณฑ์สองกษัตริย์ สนุกสนานกับกิจกรรมผจญภัย ขับรถเอทีวี หรือ ขี่จักรยานเสือภูเขา เพลิดเพลินกับการแสดงขี้ม้าต่างๆ
หากใครอยากจะสัมผัสบรรยากาศตอนกลางคืน ท่องโลกคาวบอยไนท์ ชมการแสดงยิงธนู ยิงปืน ปีนหน้าผาจำลอง เช่าเต้นท์แคมป์ปิ้งดูดาวสุดโรแมนติกพร้อมกับสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าได้ในราคาไม่แพงด้วยค่ะ
รอบการเข้า ชมฟาร์ม
วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 10.00 น. / 14.00 น. / 16.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00 น. / 11.00 น. / 14.00 น. และ 16.00 น.
จำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 80 คน/รอบ มาเป็นหมู่คณะจัดรอบเข้าชมให้
อัตราค่าเข้าชม เด็ก 50 บาท นักศึกษา 80 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
อัตราค่าบริการของกิจกรรมต่าง ๆ
– แคมป์ปิ้ง ค่าเช่าเต้นท์ 600-1,000 บาท/คน/คืน
– เช่าพักแรม 2 วัน 1 คืน 2,000 บาท/คืน (กลุ่มละ 50 คนขึ้นไป)
– ขี่รถ ATV ค่าบริการ 145-800 บาท/รอบ คิดตามระยะทาง
– จักรยานเสือภูเขา ค่าบริการ 100 บาท/ชั่วโมง มี 2 รอบ 8.00-9.00 น. และ 15.00-18.00 น.
– ขี่ม้า 80-800 บาท/รอบ ขึ้นอยู่กับประเภทและระยะทาง
ที่ตั้ง : ถนนมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จ.สระบุรี
โทร : 0 3634 1013 / www.thaidanskmilk.com
อ่านบล็อก เที่ยว 9 จังหวัดตามรอยรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 2 คลิก
อ่านบล็อก เที่ยว 9 จังหวัดตามรอยรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 3 คลิก
ติดตามเที่ยวตามรอยพ่อตอนต่อไปในเร็วๆนี้ ขอบคุณค่ะ[wp-svg-icons icon=”home-2″ wrap=”i”]